ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการเกษตร ระยะ 5 ปี
การดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเกษตร ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร : ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนในภาคการเกษตรซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในระดับประเทศ โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นกลไกหลักในการพัฒนาเกษตรกรและภาคการเกษตรโดยเฉพาะการพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmerและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกร
ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน : มุ่งเน้นการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรให้ปลอดภัย และได้มาตรฐาน โดยส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและการจัดการความเสี่ยงจากการระบาดของศัตรูพืช
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม : จุดมุ่งหมายหลักคือการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตเกษตรและการเชื่อมโยงตลาด โดยส่งเสริมให้เกษตรกร ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมและพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายผลผลิตเกษตร พัฒนาองค์ความรู้และทักษะด้านการตลาดแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร และสร้างภาพลักษณ์สินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมระบบเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืนของภาคการเกษตร : เป็นการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนแก่ภาคการเกษตร โดยสนับสนุนให้เกิดการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมการผลิตเพื่อความมั่นคงด้านอาหารและด้านอาชีพแก่เกษตรกรและชุมชน และส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาศักยภาพองค์กรและบุคลากร : วัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนา ยกระดับองค์กรให้เป็น Smart Office และพัฒนาสมรรถนะบุคลากรให้เป็น Smart Officerซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการให้บริการเกษตรกรโดยพัฒนาระบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรและการให้บริการพัฒนาระบบข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากรกรมส่งเสริมการเกษตรเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการทำงานในพื้นที่
เป้าประสงค์
1) เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้
2) สินค้าเกษตรมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันได้
3) การบริหารจัดการองค์กรมีประสิทธิภาพ
หลักการแนวคิด
1) ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ทำการส่งเสริมการเกษตรตามความต้องการของเกษตรกรและสอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่
2) ใช้ศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรในการพัฒนาเกษตรกร และใช้หลักการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบแปลงใหญ่ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร
3) ปลูกฝังหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของเกษตรกร
4) บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด